Saturday, January 23, 2016

วิธีและเทคนิคการทำครัวปูน ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ใครก็ทำเองได้ !



 

        วิธีและเทคนิคการทำครัวปูนที่หลายคนคิดว่ายาก แต่หากได้ลองทำดูแล้วจะรู้ว่าไม่ใช่อย่างที่คิดเลย เพราะวันนี้เรามีรีวิววิธีและเทคนิคการทำครัวปูนแบบง่าย ๆ มาฝากแล้ว 

         การทำครัวปูนหากมองด้วยตาอาจดูว่ายากเกินไปสำหรับคนที่ไม่เคยผ่านงานช่างมาก่อน ทั้งที่มันง่ายกว่าที่คิดเอาไว้เยอะ ถ้าอยากรู้ว่าการทำครัวปูนง่ายขนาดไหน ในวันนี้ คุณ สันต์_bt สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ก็นำข้อมูลทั้งเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการทำมาให้ชมกันครบทุกขั้นตอน เผื่อใครอยากจะลองทำตาม เพราะอยากมี ห้องครัวสวย ๆ ไว้ทำอาหารที่บ้านบ้าง

 

[CR] ทำครัวปูนไม่ยากอย่างคิด มาดูเทคนิคและวิธีการทำกันครับ โดย คุณ สันต์_bt

        วันนี้จะมารีวิววิธีการทำครัวปูนไว้ใช้ภายในบ้านกันครับ ซึ่งใครจะเสริมเติมแต่งไว้ทำอาหารที่บ้านก็ได้ครับ

อุปกรณ์หลัก ๆ  ก็มี

         1.ค้อน
         2. ตะปู
         3. เลื่อย
         4. ตลับเมตร
         5. คีมมัดลวด
         6. เกรียงก่อ
         7. ปักเต้าดีดเส้น
         8. เครื่องเจียรตัดกระเบื้อง
         9. ถังปูน
         10. จอบ
         11. กระบะผสมปูน


วิธีทำ

ขั้นตอนแรกดูขนาดพื้นที่ของห้องที่เราจะทำก่อนครับ ว่ามีขนาดเท่าไร จะทำเคาน์เตอร์ยาวกี่เมตร จะจัดวางเตา วางซิงค์ไว้ตรงไหน ร่างแบบคร่าว ๆ ใส่กระดาษไว้ก่อนครับ ส่วนห้องที่ผมจะทำครัวปูนมีขนาด 3x3 เมตรครับ

ร่างแบบด้านกว้างของเคาน์เตอร์กันครับ

เคาน์เตอร์ส่วนใหญ่จะมีด้านกว้าง 0.60 เมตร อย่างตัวนี้ปูท็อปเคาน์เตอร์ครัวด้วยหินแกรนิต นั่นแสดงว่าหินแกรนิตยื่นออกจากผนัง 60 เซนติเมตร ส่วนตัวด้านกว้างของเคาน์เตอร์จะลดลงมาอยู่ที่ 0.585 เมตร ฉะนั้นเราควรเทปูนกว้างไม่เกิน 0.57 เมตรครับ แต่ถ้าท็อปเคาน์เตอร์ปูด้วยกระเบื้องเราสามารถปรับเป็น 0.59 เมตรได้เลยครับ

      ส่วนความสูงที่เหมาะสมอยู่ที่ 0.90 เมตร โดยวัดจากพื้นที่ปูเสร็จแล้วนะครับ หรือพูดง่าย ๆ คือถ้าก่อเคาน์เตอร์ครัวจากพื้นเดิมอยู่แล้วให้วัดความสูงขึ้นไปที่ 0.90 เมตรได้เลย แต่ถ้าต้องปูพื้นครัวใหม่ต้องหาระดับพื้นที่แน่นอนให้ได้ก่อนครับ

ทีนี้มาหามุมใดมุมหนึ่งเป็นหลักความสูงกันครับ โดยวัดจากพื้นขึ้นไป 0.90 เมตร

         วัดจากพื้น 90 เซนติเมตร เป็นเส้น A
         วัดจากเส้น A ลงมา 2 เซนติเมตร เป็นเส้น B
         วัดจากเส้น B ลงมา 2 เซนติเมตร เป็นเส้น C
         วัดจากเส้น C ลงมา 6 เซนติเมตร เป็นเส้น D
         วัดจากเส้น D ลงมา 1 เซนติเมตร เป็นเส้น F ครับ วัดระดับแบบนี้ทุกมุมและดีดเส้นด้วยปักเต้าไว้ครับ

      เมื่อดีดเส้นไว้แล้ว เรามาทำโครงแบบกันครับ 

ไม้ที่นำมาทำแนะนำให้ใช้ไม้เนื้ออ่อนนะครับ เช่น ไม้พาเลท ไม้ลัง หรือไม้นิ้ว ก็ทำได้หมดครับ เพราะง่ายต่อการตัด ตอก และรื้อด้วยครับ หลังจากเลือกไม้ได้แล้วก็นำมาแนวเส้น F ตามที่คำนวณเอาไว้


โครงตัวที่ 2 ให้ทำห่างจากผนัง 50 เซนติเมตร

ปูด้านบนด้วยกระเบื้องแกรนิตโต้ครับ แกรนิตโต้ถูก ๆ ราคาไม่ถึง 200 บาทต่อตารางเมตรครับ นอกจากนี้ยังมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องตัดเหมือนไม้อัด เพราะมีความกว้าง 60 เซนติเมตรอยู่แล้วสามารถนำไปใช้ได้เลยและแข็งแรงกว่าไม้อัดครับ

 

จากนั้นตัดเหล็กเส้นขนาด 3 หุนมาเสียบ โดยตัดที่ความยาว 60 เซนติเมตรครับ เจาะระหว่างกลางขึ้นมาจากแบบ 3 เซนติเมตรโดยเว้นระยะห่างที่ 20 เซนติเมตร

เว้นช่องไว้สำหรับก่อซิงค์ล้างจานครับ

 

วางเหล็กตัวขวาง 3 เส้นครับแล้วมัดลวดให้แน่นหนาและกั้นไม้แบบ โดยตอกตะปูและมัดลวดยึดไว้กับเหล็กเส้นครับ ก่อนเทปูนควรค้ำกลางใต้กระเบื้องด้วยนะครับ

แล้วก็ผสมปูนมาเทให้เสมอกับเส้น C ซึ่งตอนเทใช้เหล็กจิ้ม ๆ หรือใช้วิธีเคาะใต้กระเบื้อง เพื่อไล่ฟองอากาศออกไปด้วยนะครับ

จากนั้นทิ้งไว้สัก 3-4 วันค่อยรื้อออกครับ แต่ในระหว่างนี้ก็ควรรดน้ำบ่มคอนกรีตทุกวันด้วยนะครับ

หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ รื้อออกทีละแผ่นครับ ซึ่งแกรนิตโต้มีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเคาะ 2-3 ทีก็หลุดครับ แต่รื้อออกแล้วก็ค้ำเคาน์เตอร์จนกว่าจะก่ออิฐด้วยนะครับ

 และที่สำคัญคือใต้เคาน์เตอร์จะเรียบมาก เรียกว่าเรียบจนเป็นเงาเลยครับ

 
 

รื้อแล้วมาก่ออิฐกันครับ เริ่มจากแบ่งออกเป็นช่องต่าง ๆ

พื้นใต้เคาน์เตอร์มี 2 แบบครับ เมื่อเปิดบานพับแล้วพื้นจะต่ำลงไปกับแบบเปิดบานแล้วพื้นจะเสมอวงกบ ซึ่งตัวนี้เป็นแบบพื้นเสมอวงกบเลยต้องเทปูนขึ้นมาครับ

จัดการปูกระเบื้องใต้เคาน์เตอร์ก่อนครับ ไม่อย่างนั้นจะทำงานลำบาก

ตัวนี้บานพับเป็นแบบยึดติดทีหลังต้องก่อและปูกระเบื้องเป็นกรอบไว้ให้ได้ขนาดที่พอดีกับบานพับนะครับ

แล้วก็เริ่มติดหินแกรนิตให้เสมอกับเส้น B นะครับ งานหินแกรนิตแนะนำให้ติดต่อช่างมาทำดีกว่าครับ เพราะหินหนักและราคาแพง ถ้าเกิดเสียหายขึ้นมาจะไม่คุ้มครับ

 
 

เสร็จแล้วยาแนว ติดอ่าง ติดบานได้เลยครับ


สุดท้ายฝากสิ่งที่เราควรดูเมื่อจ้างช่างมาทำครับ

         การปูผนังที่ทาสีแล้วต้องทำการลอกสีหรือสกัดปูนก่อนปูทุกครั้งนะครับ เพราะสียึดตัวมันกับปูนได้แต่ไม่สามารถรับน้ำหนักกระเบื้องได้นะครับ

         ส่วนการปูหน้าบานต้องแบ่งความสูงระหว่างบานให้ใกล้เคียงเพื่อความสวยงาม

         การปูจบด้วยคิ้ว กระเบื้องต้องไม่ต่ำหรือสูงกว่าคิ้ว ต้องอยู่เสมอคิ้วครับ

         การจบมุมด้วยการเจียร 45 องศาต้องไม่บิ่นครับ

         การตัดกระเบื้อง ขอบต้องเจียรด้วยใบเจียรกระจกถึงจะเรียบ ถ้าตัดอย่างเดียวไม่เจียร ขอบที่ตัดจะบิ่นเป็นลักษณะฟันปลา

         การยาแนว ต้องเลือกสีที่ใกล้เคียงโดยดูจากขอบกระเบื้องนะครับ ไม่ใช่ตัวกระเบื้อง

เช่นตัวนี้กระเบื้องสีครีมแต่ขอบออกขาว ใช้ยาแนวสีขาวถึงจะดูกลมกลืน แต่ถ้าใช้สีครีมจะเห็นเป็นเส้นยาแนวครับ การปูพื้นชนผนังที่ไม่มีบัวปิด เช่น พื้นห้องน้ำ กระเบื้องต้องชิดผนัง เสามุม ไม่ล้มเข้าหรือออก โดยสังเกตได้จากเมื่อปูกระเบื้องแล้ว ขนาดของแผ่นล่างสุดและบนสุดต้องเท่ากันครับ

      หลัก ๆ ก็ประมาณนี้ครับ ถ้ามีอะไรบกพร่องก็บอกช่างให้แก้ไขเลยครับ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ สันต์_bt สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

http://home.kapook.com/view125962.html

No comments:

Post a Comment