Tuesday, July 28, 2020

12 วิธีแก้ปัญหาท่อน้ำตันง่าย ๆ แม้ไม่ใช่ช่างก็ทำเองได้ !


ท่อน้ำตันทำอย่างไร ? มาดูวิธีแก้ปัญหาท่อน้ำตันง่าย ๆ ไม่ต้องเรียกช่าง วิธีแก้ปัญหาน้ำตันด้วยน้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดา โซดาไฟ และของใกล้ตัวที่ช่วยแก้ปัญหาท่อน้ำตันได้อย่างดีเยี่ยม


หากกำลังประสบปัญหาท่อน้ำตัน อย่าเพิ่งกริ๊งกร๊างไปหาช่างซ่อม เพราะวันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีแก้ปัญหาท่อน้ำตันง่าย ๆ มาบอกต่อ โดยวิธีแก้ไขท่อน้ำตันด้วยตัวเองและของใช้ในบ้าน เช่น น้ำส้มสายชู เบกกิ้งโซดา โซดาไฟ และของอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่ใกล้มือ อยากรู้ว่าท่อน้ำตันทำอย่างไร ? ก็ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยจาก 12 วิธีแก้ไขปัญหาท่อน้ำตัน


1. ที่ปั๊มส้วมช่วยได้ในเบื้องต้น

          วิธีการแก้ไขเบื้องต้นปัญหาท่อน้ำอุดตันนั่นก็คือ การใช้ที่ปั๊มส้วม แต่จะให้ดีต้องปั๊มด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยการครอบที่ปั๊มลงไปที่ปากท่อ นำผ้าเปียกมาคลุมไว้รอบ ๆ ที่ปั๊มแล้วทำการปั๊มขึ้น-ลงประมาณ 6-10 ครั้ง เพื่อดึงเอาสิ่งที่อุดตันอยู่ในท่อขึ้นมา

2. น้ำส้มสายชูและเบกกิ้งโซดา


          หากเกิดปัญหาท่อน้ำอุดตันแนะนำให้เทเบกกิ้งโซดาประมาณ ½ ถ้วยตวงลงไปในท่อ แล้วเทน้ำส้มสายชู ½ ถ้วยตวงตามลงไปและทิ้งไว้สักพัก จากนั้นให้ราดน้ำร้อนลงไปในท่อซ้ำอีกครั้ง

3. เบกกิ้งโซดาและเกลือ

          วิธีนี้คล้ายกับวิธีที่ 2 แต่เปลี่ยนจากน้ำส้มสายชูเป็นเกลือ โดยเทเบกกิ้งโซดาประมาณ 1 ถ้วยตวงและเกลือ ½ ถ้วยตวงลงไปในท่อ แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเทน้ำร้อนลงไปในท่ออีก 2 ถ้วยตวง

4. ไม้แขวนเสื้อใช้ทะลวงท่อ

          หากเราสามารถมองเห็นเศษขยะที่อุดตันอยู่ในท่อได้ ให้นำไม้แขวนเสื้อมาคลายออกให้เป็นลวดยาว ๆ งอปลายขึ้นเล็กน้อยเพื่อทำเป็นหัวตะขอเกี่ยว จากนั้นนำลวดด้านที่มีหัวเกี่ยวหย่อนลงไปในท่อเพื่อเกี่ยวเศษขยะที่อุดตันท่อขึ้นมา


5. ถอดท่อน้ำออกมาทำความสะอาด

          หากท่อน้ำทิ้งที่อ่างล้างหน้าหรืออ่างล้างจานเกิดอุดตันแบบขั้นหนัก แนะนำให้ถอดท่อน้ำออกมาทำความสะอาดเลยจะดีกว่า ก่อนอื่นปิดวาล์วน้ำให้น้ำหยุดไหล แล้วนำถาดมารองไว้ใต้ท่อน้ำด้านล่าง จากนั้นค่อย ๆ ถอดท่อน้ำข้อต่อระหว่างอ่างกับผนังออกมาทีละส่วน แล้วใช้แปรงสีฟันขัดถูทำความสะอาดสิ่งอุดตันออกให้หมด จากนั้นนำที่ปิดน้ำตรงปากท่อน้ำทิ้งออกมาทำความสะอาด แล้วจัดการต่อท่อกลับไปให้เหมือนเดิม

6. เครื่องดูดฝุ่น ดูดหมดทุกสิ่งอุดตัน

          ถ้าที่บ้านมีเครื่องดูดฝุ่นที่สามารถใช้ทำงานได้ทั้งพื้นที่เปียกและพื้นที่แห้ง แนะนำให้เปิดระบบการทำงานเครื่องดูดฝุ่นให้เป็นแบบเปียก จากนั้นเปิดน้ำหล่อท่อเอาไว้แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นจ่อลงไปที่ปากท่อ แล้วดูดสิ่งอุดตันท่อออกมาให้หมด

7. โซดาไฟ กัดคราบสกปรกให้หลุดออกจากท่อน้ำ

          วิธีนี้ควรใช้แก้ปัญหาส้วมอุดตันเท่านั้นและควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันด้วย ได้แก่ ถุงมือยาง แว่นป้องกันสายตา และหน้ากากอนามัย แล้วก็ลงมือผสมโดยการเทน้ำเย็นลงในถังประมาณ ¾ แกลลอน ตามด้วยโซดาไฟอีก 3 ถ้วยตวง ใช้ไม้พายคนให้เข้ากัน เมื่อเกิดฟองฟู่และไอร้อนก็รีบเทลงในชักโครก ทิ้งไว้ 20-30 นาที แล้วค่อยเทน้ำต้มเดือดราดลงไป

8. น้ำยาล้างจาน ล้างคราบไขมันให้หายเกลี้ยง

          แม้การใช้น้ำยาล้างจานอาจจะดูเป็นวิธีที่ค่อนข้างเบาแต่กลับได้ผลเกินคาด โดยเทน้ำยาล้างจานลงไปในท่อประมาณ ¼ ถ้วยตวง แล้วตามด้วยน้ำต้มเดือด น้ำยาล้างจานจะลงไปกัดคราบไขมันให้หลุดออกจากท่อ แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้สวมถุงมือยาง แล้วล้วงมือลงไปดึงเศษขยะที่ติดอยู่ออกมา ก็จะช่วยแก้ปัญหาท่ออุดตันได้ดีกว่า

9. สายทะลวงท่อน้ำอุดตัน

          ไม่อยากเสียเวลากับการแก้ปัญหาท่อน้ำอุดตันเราแนะนำให้ลองใช้สปริงทะลวงท่อหรือที่เรียกกันว่างูเหล็ก สอดเข้าไปในท่อที่อุดตัน เมื่อเจอกับสิ่งที่อุดตันท่อแล้ว ก็ใช้งูเหล็กทะลวงเข้าไปพร้อมกับเปิดน้ำทิ้งหรือกดชักโครกไล่สิ่งอุดตันตามไปด้วย

10. น้ำส้มสายชูและเกลือ

          อีกหนึ่งสูตรช่วยกำจัดสิ่งอุดตันท่อแบบไร้สารพิษทำลายล้างท่อน้ำ โดยเทเกลือขนาด ½ ถ้วยตวง เบกกิ้งโซดาอีก ½ ถ้วยตวง และน้ำส้มสายชูอีก ½ ถ้วยตวงลงไปในท่อน้ำ แล้วทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นเทน้ำต้มเดือดตามลงไปเพื่อล้างคราบไขมันที่ติดอยู่ในท่อและกำจัดสิ่งสกปรกให้หมดไป

11. ผลิตภัณฑ์เอนไซม์ แบบไม่ทำลายท่อน้ำ

          ผลิตภัณฑ์น้ำเอนไซม์มีวางขายตามห้างร้านทั่วไป หากจะนำมาใช้เพื่อทำความสะอาดท่ออุดตันแนะนำให้เลือกเอนไซม์ชนิดที่เป็นออแกนิกส์ เพราะไม่ทำลายพื้นผิวของท่อน้ำ อ่านและทำตามฉลากด้านข้างขวดอย่างเคร่งครัด จากนั้นก็ปล่อยให้เอนไซม์ทำงานโดยการทิ้งไว้ 1 คืน แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งในตอนเช้า

12. น้ำยาฟอกผ้าขาว ใช้กับท่อน้ำก็ได้

          ใครว่าน้ำยาฟอกผ้าขาวใช้ได้กับผ้าเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วมันก็ช่วยทะลวงท่อน้ำอุดตันได้เช่นกัน เริ่มจากถอดตัวกรองน้ำที่ปากท่อออกก่อน แล้วเทน้ำยาฟอกผ้าขาวประมาณ 1 ถ้วยตวงลงไป ปล่อยทิ้งไว้ 10 นาที เปิดน้ำให้ไหลงไปในท่อ หากว่าน้ำในท่อค่อย ๆ ลดระดับลง ก็เป็นอันว่าสิ่งที่อุดตันท่อหลุดออกไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็ทำความสะอาดท่อตามปกติได้เลย

          ปัญหาท่อน้ำอุดตันเกิดขึ้นได้กับทุกบ้านและถ้าหากเราปล่อยเอาไว้มันจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบท่อน้ำในบ้าน ดังนั้นเมื่อเจอปัญหาท่อน้ำอุดตันที่ไหนก็อย่าลืมนำเอาวิธีที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ไปใช้นะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Katmckee, Ncleaningtips, Wikihow, Wisebread และ Wonderhowto
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/16818198596402171/

Sunday, July 26, 2020

7 ที่ในบ้านที่ควรสังเกตแต่คนกลับมองข้าม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

การที่บ้านจะค่อย ๆ โทรมหรือชำรุดไปตามเวลาใช้งานเป็นเรื่องปกติก็จริง แต่บางครั้งถ้าเรารู้จักสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ดี เราก็สามารถดูแลรักษาให้บ้านมีสภาพคงทนให้นานขึ้นเหมือนกัน ด้วยการสังเกตจากสิ่งเล็ก ๆ น้อยที่คนมักมองข้ามตามนี้ดู

 1. ตัวฐานของบ้าน  

          การทรุดโทรมของฐานบ้านถือเป็นจุดเริ่มของหายนะในบ้านเลยทีเดียว เพราะจะเป็นตัวทำให้พื้นและกำแพงทรุดตามไปด้วย ซึ่งการที่ฐานบ้านเริ่มทรุดอาจเกิดจากการที่มีน้ำรั่วซึมเข้าไปหรือโดนน้ำขังในช่วงฝนตกหนักและช่วงน้ำท่วมก็ได้ โดยเราสามารถสังเกตว่าฐานบ้านมีอาการทรุดอย่างที่ว่าหรือเปล่าด้วยการดูจากรอยแตกร้าวตามผนังที่เกิดจากการทรุดตัวดูแต่เนิ่น ๆ จะได้ตามช่างมาดูแลเสริมความแน่นหนาได้ทันก่อนที่บ้านจะทรุดลงไปกว่าเดิมโดยที่คุณไม่รู้ตัว

2. อ่างล้างจานแบบเคาน์เตอร์

          บางครั้งการใช้อ่างล้างจานแบบฝังใต้เคาน์เตอร์ก็อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนละเลยที่จะสำรวจใต้อ่างว่ามีรอยรั่วบ้างหรือไม่ จนปล่อยให้น้ำรั่วจนซึมออกมาให้ตู้เคาน์เตอร์อับชื้นเป็นเชื้อราโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย ๆ ดังนั้นคุณจึงควรลองเปิดน้ำแล้วเปิดตู้ไปพร้อมกันเพื่อเช็คดูบ้าง จะได้มั่นใจได้ว่าอ่างล้างจานของคุณไม่มีน้ำรั่วซึมออกมาตามท่อเวลาที่เปิดน้ำ

 3. สังเกตทางเข้าบ้านในช่วงฝนตก

          หลังจากใส่เสื้อกันฝนพร้อมรองเท้าบูทแล้วก็เดินออกมานอกบ้านเพื่อสังเกตทางเข้าบ้านของคุณในช่วงฝนตกดูบ้าง โดยคุณควรดูให้ดีว่าเวลาที่ฝนตกมีน้ำเจิ่งนองจนเป็นบ่อเล็ก ๆ อยู่แถว ๆ ไดร์ฟเวย์ของคุณหรือไม่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นแอ่งน้ำตรงนั้นก็จะกัดเซาะจนทางเข้าบ้านของคุณผุกร่อนได้เร็วขึ้น จนทำให้แตกร้าวเวลาที่ของหนัก ๆ อย่างรถขับผ่านได้ง่ายด้วย

4. ทำความสะอาดรางน้ำบนหลังคาเป็นประจำ

          หลาย ๆ คนอาจไม่ใส่ใจเรื่องการทำความสะอาดรางน้ำสักเท่าไหร่ เพราะค่อนข้างยุ่งยากและถึงจะสกปรกก็อยู่ในที่ซึ่งคุณมองไม่เห็นอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็ควรหันมาทำความสะอาดรางน้ำกันให้มากขึ้น เพราะนอกจากน้ำฝนแล้วก็อาจมีสิ่งสกปรกอื่น ๆ เช่นใบไม้หรือขยะมาติดอยู่บนหลังคาจนทำให้รางน้ำของคุณเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคได้เหมือนกัน ดังนั้นควรหันมาทำความสะอาดกันให้มากขึ้นอย่างน้อยปีละครั้งนะคะ

 5. ดูแลระเบียงให้สะอาด

          ระเบียงก็เป็นอีกที่ในบ้านที่มีน้ำรั่วซึมได้ง่ายจากการที่โดนฝนสาดเข้ามาอยู่บ่อย ๆ ทำให้พื้นถูกน้ำกัดเซาะได้ โดยเฉพาะพื้นไม้ที่ผุเกราะง่ายเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ความอับชื้นหลังฝนตกยังทำให้ระเบียงของคุณเกิดเชื้อราได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย คุณจึงควรหมั่นใช้สเปรย์กำจัดเชื้อราฉีดก่อนทำความสะอาดเป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ผุแล้วก็ควรถอดออกเพื่อใส่พื้นใหม่แทนเพื่อความมั่นคงด้วย

6. สังเกตด้านนอกแบบรอบ ๆ

          คนส่วนใหญ่มักสนใจแต่การทำความสะอาดด้านในบ้านจึงทำให้ลืมที่จะสังเกตสิ่งผิดปกติรอบบ้านด้วย ซึ่งบางทีรอยสีหลุดลอกตามกำแพงนอกบ้านหรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ ก็อาจทำให้บ้านดูไม่น่ามองหรือเกิดรอยรั่วจนต้องซ่อมแซมได้เหมือนกัน คุณจึงควรสังเกตรอบ ๆ บ้านด้วยว่ามีรอยแตกบนกำแพงหรือมีกระเบื้องหลังคาหลุดออกไปบ้างหรือเปล่า จะได้ซ่อมได้ทันก่อนที่บ้านจะเสียหายไปมากกว่าเดิม

 7. ทำความสะอาดเครื่องทำน้ำอุ่น

          พอใช้ไปเรื่อย ๆ แทงค์เครื่องทำน้ำอุ่นในบ้านของคุณก็มักจะเกิดการตกตะกอนอยู่ด้านในเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถ้าคุณต้องการให้แทงค์น้ำใช้ได้นานขึ้นก็ควรระบายคราบตกตะกอนพวกนี้ออกด้วยการติดสายยางเข้ากับหัวก๊อกบริเวณด้านล่างของแทงค์ แล้วจึงเปิดก๊อกน้ำส่วนที่เชื่อมกับแทงค์เพื่อให้น้ำและคราบตกตะกอนไหลออกมาตามสายยางจนหมด สุดท้ายหลังจากขจัดคราบตกตะกอนออกไปหมดแล้วก็ปิดน้ำ เทน้ำออกจากสายยางรวมทั้งคราบตกตะกอนออกให้หมด แล้วจึงเสียบสายยางฉีดน้ำเข้าไปใหม่เพื่อเติมแทงค์ให้เต็ม เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ


          หลังจากอ่านจบเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมลองสำรวจรอบ ๆ บ้านของคุณตามนี้ดู เพื่อให้บ้านทนทานอยู่กับคุณไปได้นาน ๆ ด้วยนะคะ

https://home.kapook.com/view44942.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/796644621565656859/

Monday, July 20, 2020

5 จุดเสี่ยงหลังคารั่ว รีบซ่อมก่อนฝนตก ป้องกันน้ำไหลซึมเพดานและผนัง


       มาดูจุดเสี่ยงที่มักเกิดรอยรั่วบนหลังคา เกิดจากสาเหตุอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง มาดู จุดเสี่ยงหลังคารั่ว ที่ควรซ่อมแซมก่อนน้ำรั่วซึมเข้าผนังและเพดาน 

       รอยรั่วบนหลังคา ต้นเหตุอาจจะเกิดจากรูเล็ก ๆ แต่ทว่ากลับสร้างปัญหามากมาย เพราะหากมีน้ำฝนรั่วเข้ามาในบ้าน ไม่ได้ทำให้ข้าวของเสียหายอย่างเดียว แต่น้ำฝนที่ซึมไปตามฝ้าเพดานและผนังยังทำให้เกิดความชื้นและมีเชื้อรา ตามมาด้วยเหล่าแมลงและสัตว์น้อยใหญ่เข้ามาทำรัง อีกทั้งยังส่งผลถึงโครงสร้างบ้านอีกต่างหาก ฉะนั้นก่อนที่อะไร ๆ ในบ้านจะเสียหายไปมากกว่านี้มาดูกันว่ามีส่วนไหนที่มักจะเกิดรอยรั่ว สังเกตอย่างไร และจะแก้ไขอย่างไรกันค่ะ 

1. อุปกรณ์ยึดหลังคาเสื่อมสภาพ

          หากเริ่มสังเกตเห็นแสงลอดลงมาจากรูเล็ก ๆ บนหลังคาหรือมีคราบน้ำซึมเป็นทางหลังฝนตกละก็ เป็นไปได้ว่ามีรอยรั่วบริเวณสกรูยึดหลังคา ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกันคือ หัวสกรูไม่ได้ถูกซ่อนไว้ในหลังคาหรือแหวนยางรองเสื่อมสภาพ เลยทำให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ที่ทำให้น้ำฝนไหลซึมเข้ามาตามหลังได้ ซึ่งวิธีแก้ไขสำหรับปัญหานี้ก็ไม่ยาก ทำได้โดยการเปลี่ยนเซตสกรูใหม่ที่มีแหวนรองยาง แล้วทาวัสดุกันซึมเสริมกันน้ำอีกชั้น แต่ทั้งนี้ควรระมัดระวังในการเปลี่ยนสักนิด เพราะหากยิงสกรูแรงเกินไปก็อาจทำให้แหวนยางรองขาดหรือวัสดุมุงหลังคาแตกได้ 

2. กระเบื้องหลังคามีรอยร้าว 

          วิธีสังเกตรอยรั่วคล้าย ๆ กับปัญหาแรก แต่แตกต่างกันตรงที่หากมีรอยรั่วตรงสกรูจะเห็นแสงเป็นจุดเล็ก ๆ ในขณะที่หากกระเบื้องหลังคามีรอยร้าว จะเห็นช่องแสงเป็นทางยาวตามรอยแตก ซึ่งสาเหตุนั้นก็เกิดจากมีสิ่งของตกลงมากระแทก การเจาะกระเบื้องแรงเกินไป มุงหลังคาไม่สลับแนว หรือระยะทับซ้อนของกระเบื้องไม่เหมาะสม ทั้งนี้หากจะเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ควรใช้กระเบื้องรุ่นเดิมเพื่อให้เข้ากับแนวลอนหลังคาเก่า หรือซ่อมแซมด้วยอะคลิลิกกันซึมทาปิดบริเวณที่มีรอยแตก

3. มีรูรั่วที่สันครอบหลังคา 

          ถือเป็นบริเวณที่สังเกตเห็นได้ยาก เพราะเป็นส่วนที่อยู่ภายนอก กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนมีน้ำรั่วเข้ามาในบ้าน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บริเวณนี้มีปัญหา ได้แก่ ติดตั้งสันครอบหลังคาผิดวิธี ทำให้เกิดช่องโหว่ระหว่างที่ครอบกับหลังคา วางแนวกระเบื้องตรงรอยต่อห่างกันเกินไป หรือมีรอยร้าวที่ปูนปั้นใต้สันครอบหลังคา ถ้าไม่อยากเสียเวลารื้อสันครอบหลังคาแล้วติดตั้งใหม่ ให้ปิดรอยแตกด้วยปูนและทาวัสดุกันซึม เช่น น้ำยาอะคริลิกเพื่อป้องกันน้ำไว้อีกชั้น แต่ถ้าหากมีปัญหาที่ปูนปั้นให้สกัดปูนเก่าออกแล้วฉาบปูนใหม่เข้าไป 

4. รอยต่อส่วนต่อเติมมีปัญหา 

          สำหรับบ้านที่มีการต่อเติมโครงสร้างออกไป อย่างเช่น ห้องครัวหลังบ้านหรือโรงรถ มักจะมีรอยรั่วระหว่างหลังคากับผนังตรงส่วนที่เรียกว่า ปีกคลส. หรือปีกคอนกรีตเสริมเหล็ก มีรอยร้าวหรือไม่ประสานกับผนังบ้าน ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุก็คือต่อเติมแบบไม่ใช้ปีกคลส. เลยทำให้เกิดช่องว่างและฝนตกรั่วลงมา ทั้งนี้สามารถแก้ไขโดยใช้วัสดุกันซึมทาปิดรอยรั่วระหว่างส่วนต่อเติมกับผนังบ้าน ก็จะช่วยป้องกันบ้านช่วงหน้าฝนได้อีกทางหนึ่ง 

5. โครงสร้างผุหลังคาแอ่น 

          อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดรอยรั่วบนหลังคาก็คือ หากสังเกตุเห็นหลังคาเริ่มผิดรูป ก็เป็นไปได้ว่าโครงสร้างหลังคาเริ่มเสื่อมสภาพเนื่องจากผ่านการใช้งานมาหลายปี รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น โครงเหล็กเป็นสนิมจนผุ หรือแมลงกินโครงไม้จนทรุด ทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักหลังคาไม่ไหวจนเริ่มเสียทรงและเกิดช่องว่างระหว่างรอยต่อของกระเบื้องมุงหลังคา แต่เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง ซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ยาก ดังนั้นจึงควรปรึกษากับวิศกร เพื่อแก้ไขได้ตรงจุด 

          หลังคารั่ว อาจจะเกิดรูเล็ก ๆ แต่ก็สร้างปัญหาใหญ่ได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่าเมื่อน้ำฝนไหลซึมเข้าบ้านนั้น ไม่ได้ทำให้บ้านสกปรกอย่างเดียว แต่ยังทำให้ของในบ้านเสียหาย และอาจจะเกิดเชื้อราตามมาอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นหากรู้แล้วว่ามีจุดเสี่ยงตรงไหนบ้าง ก็อย่าลืมซ่อมแซมกันนะคะ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก jorakay, scgbuildingmaterials, weareafirm และ multiladderth
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/1337074884862016/

Friday, July 3, 2020

เตรียมบ้านรับหน้าฝนอย่างไรให้ปลอดภัย


 วิธีเตรียมบ้านรับหน้าฝน เพื่อความปลอดภัยของบ้านและครอบครัว เพื่อให้บ้านเราผ่านหน้าฝนนี้ไปได้อย่างปลอดภัย

         เริ่มชุ่มฉ่ำกับสายฝนกันแล้ว เป็นสัญญาณว่าถึงคราวที่ฤดูฝนได้เวียนกลับมาอีกครั้ง แต่การที่ฝนตกเช้า ตกเย็น ตกไม่เป็นเวลาอย่างนี้ ก็อาจจะกระทบกระเทือนกับบ้านของเราทั้งเปียกแฉะเลอะเทอะ อีกทั้งยังอาจเกิดความเสียหายกับบ้านได้ด้วย ดังนั้นเรามาเตรียมบ้านให้พร้อมรับหน้าฝนกันด้วยวิธีต่อไปนี้กันดีกว่าค่ะ บ้านเราจะได้ผ่านหน้าฝนนี้ไปได้อย่างปลอดภัย

1. เคลียร์ท่อและรางน้ำฝนให้โล่ง

         ในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูหนาว สายลมอาจจะพัดพาใบไม้ให้ร่วงหล่นตกค้างในท่อน้ำ รางน้ำฝน และหลังคาบ้าน จนอาจจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางเดินของน้ำ ให้ไหลไม่สะดวก เกิดการเอ่อล้นเสี่ยงน้ำท่วมบ้านได้ ยิ่งถ้ามีสิ่งกีดขวางบนหลังคาบ้านมาก ๆ น้ำฝนที่ตกลงมาก็จะไม่ไหลไปตามร่องกระเบื้องมุงหลังคา แต่จะไหลมาด้านข้าง รดขอบหน้าต่างและผนังให้เสียหายแทน ดังนั้นเราควรจะเคลียร์ท่อน้ำและรางน้ำฝนให้โล่งเสียก่อน ด้วยการปัดกวาดเศษใบไม้และสิ่งอุดตันออกจากท่อให้หมด จากนั้นหากไม่มีอุปกรณ์หรือไม่รู้วิธีลอกท่อที่ถูกต้อง แนะนำให้ปรึกษาช่างผู้ชำนาญการ ให้เขามาลอกท่อให้เลยดีกว่า

2. อุดทุกรอยรั่ว

         ตรวจเช็กให้แน่ใจว่าหลังคา ฝ้า และเพดาน ไม่มีรอยรั่ว แตกร้าวหรือมีช่องให้น้ำผ่านเข้ามาได้ ควรซีลขอบหน้าต่างให้เรียบร้อย และจะดีมากถ้าใช้ยางซีลชนิดที่กันน้ำได้ หากจุดใดเกิดการชำรุดก็ต้องจัดการซ่อมแซมโดยทันที เพื่อในวันที่มีพายุฝนกระหน่ำ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าน้ำฝนจะเล็ดลอดเข้ามาในบ้านให้ต้องเหนื่อยเช็ดถู และเฟอร์นิเจอร์จะได้ไม่โดนน้ำฝนทำลายให้เสียหายด้วย นอกจากนี้อย่าลืมหาเกราะป้องกันน้ำให้คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศด้วยนะคะ อาจจะต้องลงทุนกันมากหน่อยแต่รับรองว่าคุ้มไปตลอดทั้งปีแน่ ๆ จ้า

3. ใส่ใจสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ

         อย่าลืมใส่ใจสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สระว่ายน้ำ สนามหญ้าหน้าบ้าน ที่ควรต้องลดระดับน้ำในสระ และรดน้ำต้นไม้ให้น้อยลง เผื่อไว้สำหรับรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาด้วย อีกทั้งถ้าหน้าต่างบ้านเป็นหน้าต่างไม้ ก็ควรต้องลงทุนทาสีชนิดกันน้ำได้ แทนสีเก่า เพื่อให้ช่วยป้องกันน้ำฝนซึมลงในเนื้อไม้ จนทำให้หน้าต่างบวมเสียรูป รายละเอียดยิบย่อยแบบนี้แต่ละบ้านก็มีไม่เหมือนกัน ดังนั้นช่วงที่ใกล้จะเข้าหน้าฝนอย่างนี้ แนะนำให้คุณสำรวจดูให้ทั่วบ้าน และจดรายการที่ต้องเตรียมป้องกันน้ำฝนกันให้ดีด้วย

4. ป้องกันลมพัดทำลายข้าวของ

         หน้าฝนมักจะมาพร้อมกับพายุ และลมแรง ๆ ซึ่งอาจจะทำลายสวนสวย ร่มกลางสนาม ถังขยะ หรือข้าวของที่สามารถปลิว ร่วงหลุด หรือหักงอได้ง่าย ดังนั้นคงดีกว่าถ้าเราจะเก็บสิ่งของเหล่านี้ในที่ปลอดภัย เช่น ในโรงรถ หรือห้องเก็บของไว้ก่อน เพื่อป้องกันลมแรง ๆ มาพัดข้าวของให้ปลิวกระจัดกระจาย เสียหายในภายหลัง หากเป็นของที่ไม่สามารถเก็บเข้าที่ได้ ลองหาอะไรยึดไว้ให้แข็งแรงก็จะปลอดภัยขึ้นนะ

5. อย่าลืมเรื่องไฟฟ้า
        
         สำหรับบ้านไหนที่ต่อเติมบ้านไปเมื่อช่วงฤดูร้อนและยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย หรือมีการตั้งโต๊ะจัดปาร์ตี้ที่สนามหน้าบ้าน ก็ควรต้องตรวจเช็กให้ดี ว่ามีสายไฟ หรือการต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นค้างไว้หรือเปล่า เพราะถ้าหากลืมเก็บเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสายไฟเหล่านี้ อาจเกิดอันตราย เช่น ไฟช็อต ไฟรั่ว ในขณะที่ฝนตกได้นะจ๊ะ

6. ตัดกิ่งไม้ให้เรียบร้อย

         หน้าฝนที่ลมแรง ๆ อย่างนี้หากกิ่งไม้หรือต้นไม้เกิดโค่นทับหลังคาบ้านก็คงไม่ดีแน่ ฉะนั้นในวันที่ฟ้าปลอดโปร่ง เราก็จัดการตัดแต่งกิ่งไม้ที่ใกล้จะหัก หรือกิ่งที่ค่อนข้างใหญ่ลงก่อนดีกว่า และอย่าลืมเคลื่อนย้ายต้นไม้ดอกไม้กระถางเล็ก ๆ ที่เสี่ยงจะปลิวไปกับสายลมไว้ในที่ปลอดภัยด้วยนะคะ

7. เตรียมไฟฉายให้พร้อม

         ในวันที่มีพายุลูกใหญ่พัดถล่ม ไฟก็อาจจะดับใช้การไม่ได้ ดังนั้นทางที่ดีเราควรเตรียมไฟฉาย หรือเทียนไขให้พร้อมก่อนดีกว่า เช็กให้แน่ใจด้วยว่ามีอุปกรณ์ครบพร้อมใช้งานทุกอย่าง ทั้งถ่านไฟฉาย เทียนไข ไฟแช็ก และควรเก็บของเหล่านี้ไว้ในที่ที่หยิบใช้งานได้สะดวกที่สุดด้วย เผื่อเกิดไฟดับขึ้นมาจะได้ไม่งงอยู่ในความมืดกันนานเกินไป

 
         เริ่มเข้าหน้าฝนกันแล้ว ยังไงก็อย่าลืมทำตามคำแนะนำที่เรานำมาฝากกันด้วยนะคะ บ้านจะได้ไม่โดนพายุฝนและลมแรง ๆ ถล่มให้ต้องเสียหาย ผ่านหน้าฝนกันมาได้อย่างปลอดภัย และถึงอย่างไรป้องกันไว้ก่อนก็ดีกว่าแก้แน่ ๆ จริงไหมจ๊ะ?