Saturday, May 30, 2015

วิธีซ่อมรอยขีดข่วนบนพื้นไม้เนื้อแข็งแบบง่าย ๆ




          วิธีซ่อมไม้เนื้อแข็ง จัดการกับรอยขีดข่วนบนพื้นไม้ให้หมดจด ใครที่กำลังมองหาเคล็ดลับเด็ด ๆ แบบนี้อยู่ วันนี้เราก็มีเคล็ดลับซ่อมแซมรอยตำหนิบนพื้นไม้เนื้อแข็งมาฝากด้วยจ้า เพราะ พื้นไม้เนื้อแข็งเป็นวัสดุปูพื้นที่สวยคลาสสิก มีสไตล์โดดเด่นเป็นของตัวเอง แต่มีข้อเสียอยู่นิดตรงที่ต้องดูแลพื้นไม้เนื้อแข็งให้มากหน่อย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดตำหนิเป็นรอยขีดข่วนได้ แต่ถ้าตอนนี้พื้นไม้เนื้อแข็งของคุณเกิดรอยตำหนิซะแล้ว เอาเป็นว่ามาศึกษาวิธีซ่อมแซมรอยขีดข่วนบนพื้นไม้เนื้อแข็งไว้ก็ดีนะคะ จะได้จำเคล็ดลับไปทำกันดู

ขัดเบา ๆ ด้วยฝอยขัดหม้อ

          สำหรับรอยขีดข่วนบนพื้นไม้เนื้อแข็งที่ไม่ลึกมากนัก แบบนี้ใช้ฝอยขัดหม้อชนิดเส้นใยบาง ๆ มาถูกำจัดรอยตำหนิตามลายเนื้อไม้เบา ๆ จนกว่ารอยขีดข่วนที่มีอยู่จะค่อย ๆ จางหายไปได้เลย หลังจากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดอีกรอบก็เสร็จ

กระดาษทรายขัดไม้ขั้นเด็ดขาด

          หากว่ารอยขีดข่วนที่เกิดขึ้นบนพื้นไม้เนื้อแข็ง มีความลึกพอสมควร ขนาดฝอยขัดหม้อก็ยังเอาไม่อยู่ ให้คุณใช้กระดาษทรายเบอร์ 120 หรือ P120 ขัดเบา ๆ โดยขัดไปตามลายเนื้อไม้ เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนที่เพิ่มขึ้น จากนั้นเคลือบผิวไม้เพื่อป้องกันริ้วรอยอีกรอบ

ปาดทับ กลบรอยขีดข่วน

          ขั้นตอนนี้แนะนำให้ใช้เกรียงพลาสติก ปาดสีโป๊วไม้ (Wood Filler) ลงไปบนรอยขีดข่วนที่เกิดขึ้น แล้วปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ ทั้งนี้คุณต้องเลือกสีโป๊วไม้ ที่มีสีใกล้เคียงกับพื้นไม้เนื้อแข็งด้วยนะคะ เสร็จแล้วก็ใช้กระดาษทรายเบอร์ 180 ขัดส่วนเกินของน้ำยาเคลือบออกให้หมดจด

เคลือบเงาคืนความเนี้ยบให้เนื้อไม้

          หลังจากซ่อมแซมรอยขีดข่วนบนเนื้อไม้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยการใช้น้ำยาเคลือบเงาไม้ หรือโพลียูริเทนมาเคลือบปิดร่องรอยตำหนิบนเนื้อไม้ให้เนียนเนี้ยบเหมือนเดิม

          รอยตำหนิที่เกิดขึ้นบนเนื้อไม้ หากไม่รีบจัดการซ่อมแซมเร็ว ๆ ร่องรอยเหล่านี้อาจจะขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดพื้นไม้เนื้อแข็งของบ้านก็คงมีสภาพที่ดูไม่จืด ฉะนั้นพื้นไม้เนื้อแข็งบ้านไหนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ ลองนำขั้นตอนที่เรามาบอกต่อไปจัดการกันดูนะจ๊ะ

แหล่งที่มา  http://home.kapook.com/view85649.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Friday, May 29, 2015

ซ่อมบ้านเรื่องง่าย ที่คุณเองก็ทำได้



        บ้านที่สร้างมานานหลายปี อาจจะมีจุดชำรุดทรุดโทรมให้เราต้องซ่อมแซมบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือตัวบ้านเองก็ตาม แต่พอพูดถึงเรื่องงานซ่อมแซมบ้าน หลายคนก็อาจจะคิดไปไกลว่าต้องจ้างช่าง หรือต้องยกเครื่องใช้ไปให้ศูนย์บริการซ่อมแซมให้หรือเปล่า ใจเย็น ๆ ก่อนนะคะ อย่าเพิ่งวิตกกังวลไป เพราะจุดชำรุดเล็กน้อยบางอย่างเราก็สามารถซ่อมได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง อย่างจุดชำรุดในบ้านต่อไปนี้ ที่เราก็มีวิธีซ่อมแซมแบบบ้าน ๆ มาฝากกันด้วย

1. เครื่องซักผ้ารั่ว

          หากจู่ ๆ เครื่องซักผ้าที่เคยใช้งานได้ตามปกติก็เกิดมีน้ำรั่วไหลออกมาในระหว่างการ ซัก ก็คงต้องรีบตรวจสอบกันก่อนที่น้ำจะไหลท่วมบ้าน ขั้นแรกให้คุณหยุดการทำงานของเครื่องซักผ้าก่อน แล้วมาตรวจสอบท่อสายยางสำหรับน้ำทิ้ง ที่อยู่บริเวณด้านหลังเครื่องซักผ้า สำรวจดูในแน่ชัดว่ามีร่องรอยของการรั่ว หรือรอยแตกบ้างหรือไม่ หากพบว่าต้นเหตุของน้ำรั่วซึมมาจากสายยาง จะได้ไปหาซื้อสายยางมาใหม่ แล้วก็จัดการถอดอันเก่าออก ใส่สายยางอันใหม่เข้าไปแทนตามวิธีในคู่มือการใช้ที่แนบมา หรือถ้าหาคู่มือไม่เจอ ก็ไม่ยากค่ะ ให้คุณค่อย ๆ ขันนอตตรงบริเวณหัวต่อของสายยางท่อน้ำทิ้ง แล้วค่อย ๆ ดึงสายยางอันเก่าที่ชำรุดออกมา เสียบสายยางอันใหม่เข้าไป จากนั้นก็ขันนอตเข้าที่ให้แน่นหนาเหมือนเดิม
 
2. คราบเชื้อราบนกำแพง

          ในขณะที่อากาศชื้น ๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราบนกำแพงเป็นปื้นดำ ๆ ได้บ้าง ซึ่งถ้าหากเราปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเป็นอันตรายกับสุขภาพคนในบ้าน โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ดังนั้นคงดีกว่าหากเราจะกำจัดเชื้อราเหล่านี้ให้หมดไป ด้วยการผสมน้ำยาฟอกขาว 1 ถ้วยตวง ลงในน้ำอุ่น 1 แกลลอน จากนั้นก็ใช้ฟองน้ำ หรือผ้าขี้ริ้วจุ่มน้ำยาที่ผสมไว้ เช็ดทำความสะอาดเชื้อราบนผนังให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง น้ำยาฟอกขาวอาจจะกัดกร่อนสีบนผนังให้หลุดลอกไปบ้าง ซึ่งหลังจากทำความสะอาดผนังเรียบร้อยและแห้งสนิทดีแล้ว ก็คงต้องทาสีผนังใหม่อีกรอบ เพื่อความสวยงามกลมกลืน

3. ชักโครกน้ำไหลไม่หยุด

          หากเกิดปัญหานี้ขึ้น เป็นใครก็คงต้องกุมขมับ เพราะกลัวบิลค่าน้ำจะพุ่งพรวดไปอย่างเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นเราจึงต้องรีบซ่อมแซมโดยด่วน ด้วยการเปิดฝาถังพักน้ำชักโครกออกดู แล้วลองดันลูกลอยขึ้นเบา ๆ ดูว่าน้ำหยุดไหลออกมาจากท่อรึเปล่า ถ้าใช่ก็ฟันธงได้เลยว่า ปัญหาน้ำไหลไม่หยุดเกิดจากลูกลอยอยู่สูงเกินไป ให้คุณแก้ปัญหาด้วยการใช้มือ 2 ข้างจับคันโยกลูกลอยให้แน่น แล้วบิดปลายด้านลูกลอยให้กดลงไปในน้ำ รอให้น้ำสูงขึ้นปริ่มๆ ระดับบน ถ้าน้ำยังไม่หยุดไหล ก็เพิ่มการบิดทีละน้อย แต่ระวังอย่าบิดมากเกินไป เพราะน้ำจะหยุดไหลก่อนที่จะได้น้ำในระดับที่พอจะล้างชักโครกลงได้ ดังนั้นจึงต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ บิดลูกลอยให้อยู่ในระดับที่พอดี
 
4. รอยแตกบนพื้นถนน

          พื้นถนนหน้าบ้านหรือลานจอดรถที่มีรอยแตกแยกเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะไม่เช่นนั้นความชำรุดบนพื้นจะยิ่งขยายวงกว้างให้แก้ไขกันยากขึ้นไปอีก ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องเคลียร์เศษสกปรกในร่องพื้นออกมาก่อน และหากรอยแตกมีความลึกมาก ควรเททรายลงไปเติมก่อนชั้นนึง จากนั้นก็สั่งซื้อยางมะตอยผสมสำเร็จมาเทเติมรอยแตกบนพื้นให้เต็ม และควรปิดกั้นเส้นทางไม่ให้รถผ่านจนกว่ายางมะตอยจะแห้งสนิทดีด้วยนะคะ

5. รูตะปูบนผนัง


          สำหรับใครที่เคยตอกตะปูบนผนังเพื่อแขวนสิ่งของ แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจ ไม่ได้แขวนอะไรแล้ว ก็คงต้องมีร่องรอยของรูตะปูหลงเหลืออยู่บนผนัง ทำให้ผนังเกิดตำหนิไม่สวยงาม เราก็สามารถซ่อมแซมได้ ด้วยการกางหนังสือพิมพ์บนผนัง ให้ระยะห่างระหว่างผนังกับขอบหนังสือพิมพ์เหลือประมาณ ¼ นิ้ว จากนั้นใช้เกรียงปาดอะคริลิค สำหรับยาแนวรอยแตกผนังโดยเฉพาะ (หาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป ราคาประมาณกระป๋องละ 150 บาท) มาอุดรูตะปูให้เต็มเสมอกับผนัง จากนั้นใช้เกรียงปาดอะคริลิคส่วนเกินออกให้หมด แล้วใช้ฟองน้ำชุบน้ำทำความสะอาดคราบสกปรกจากการซ่อมแซมอีกครั้ง หากสีบนผนังหลุดลอก หรือซีดลง ก็ควรจะทาสีผนังทับให้สวยงาม

         งานซ่อมแซมบ้านที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง และเราก็พอจะซ่อมแซมเองได้ ก็น่าจะลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองดูก่อนนะคะ เพราะใครจะรักบ้านและดูแลบ้านได้ดีเท่ากับเจ้าของบ้านล่ะ จริงไหม ?

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/332422016243148655/

Thursday, May 28, 2015

ซ่อมบ้านเรื่องเล็กที่คุณทำได้ ด้วยของใช้ใกล้ตัว



        บ่อยครั้งที่อุปกรณ์และของใช้ในบ้าน ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน สามารถช่วยแก้ปัญหารวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องต่าง ๆ ให้เราได้ไม่น้อย แต่เป็นเพราะเราไม่เคยเห็นถึงประโยชน์ใช้งานอื่น ๆ ของมันเท่าไร เราจึงไม่รู้ว่าเพียงแค่ของใช้ชิ้นเล็ก ๆ ก็สามารถช่วยซ่อมแซมของใช้ในบ้านได้ด้วย ซึ่งปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้านเราก็สามารถซ่อมแซมและแก้ไขได้เองง่าย ๆ ด้วยของใช้ต่อไปนี้ค่ะ

1. อุดรูรั่วฝักบัวและสายยางด้วยไม้จิ้มฟัน

          ฝักบัวหรือสายยางที่รั่ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อใหม่ให้เปลืองเงินในกระเป๋า เพราะเจ้าไม้จิ้มฟันอันจิ๋วสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เราได้ชิล ๆ เพียงแค่นำไม้จิ้มฟันจิ้มลงไปตรงจุดรั่วของฝักบัวหรือสายยาง จากนั้นก็หักเอาไม้จิ้มฟันส่วนเกินออก และไม่ต้องกลัวว่าเมื่อเราเปิดก็อกน้ำแล้วแรงดันน้ำจะผลักเอาเศษไม้จิ้มฟัน ที่เราอุดไว้ออกมา เพราะเมื่อไม้จิ้มฟันโดนน้ำ ก็จะบวมจนอุดรูรั่วได้แน่นมากขึ้นกว่าเดิม เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้งานสายยางและฝักบัวได้ตามปกติโดยที่ไม่ต้องเสีย เงินสักบาทแล้วล่ะ

2. ถุงน่องช่วยซ่อมมุ่งลวด

          หากหน้าต่างมุ้งลวดที่บ้านเกิดขาดเป็นรู ก็ไม่ต้องทนเสี่ยงให้ยุงและแมลงบินเข้ามากัดเราอีกต่อไปแล้ว เพราะถุงน่องของคุณสาว ๆ สามารถช่วยเราซ่อมแซมมุ้งลวดที่ขาดได้ง่าย ๆ โดยตัดถุงน่องให้มีขนาดพอ ๆ กับขนาดของรูที่ขาด จากนั้นใช้กาวซีเมนต์ทาให้ทั่วรูรั่ว และก็นำถุงน่องที่ตัดไว้ไปแปะทับ หรือถ้าต้องการความทนทานกว่านี้ แนะนำให้เย็บด้วยเข็มและด้ายเลยค่ะ

3. ป้องกันนิ้วมือจากค้อนด้วยไม้หนีบผ้า

          เชื่อได้ว่าหลายคนเคยตอกตะปูด้วยตัวเอง แล้วพลาดใช้ค้อนทุบลงบนมือโดยไม่ทันได้ระวัง แต่นับจากวันนี้ต่อไป จะไม่เกิดอุบัติเหตุน่าเจ็บใจแบบนี้ขึ้นอีกแล้วล่ะ เพราะถ้าหากจะต้องใช้ค้อนตอกอะไรสักอย่าง แนะนำให้คุณใช้ที่หนีบผ้า (ชนิดไม้จะดีที่สุด) หนีบนิ้วมือเอาไว้ก่อน เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันแรงทุบจากค้อนได้ระดับนึงแล้วล่ะค่ะ แต่ทางที่ดีที่สุด ก็ต้องอาศัยความระมัดระวังจากตัวคุณเองด้วยนะ

4. สายยางช่วยเคลียร์รางน้ำฝน

          ปกติรางน้ำฝนจะมีเศษใบไม้และเศษขยะเกะกะอยู่เต็มไปหมด ทำให้ระบายน้ำฝนได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะหน้าฝน ที่มีฝนตกอยู่บ่อย ๆ อย่างทุกวันนี้ ถ้ารางน้ำอุดตันก็คงจะสร้างปัญหาให้เราอยู่ไม่น้อย ดังนั้นเรามาเคลียร์รางน้ำฝนให้โล่งสะอาดด้วยสายยางดีกว่า เพียงแค่ใช้สายยางเปล่า ๆ ดันสิ่งสกปรกให้ร่วงหล่นจากรางน้ำฝนโดยไม่ต้องเปิดก็อก เท่านี้เศษสกปรกที่อุดตันรางน้ำฝนอยู่ก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดายแล้วค่ะ

5. คงสภาพสีพื้นปูนซีเมนต์ด้วยน้ำส้มสายชู

          พื้นปูนซีเมนต์ที่มีการทาสี เมื่อเวลาผ่านไปมักจะเกิดการหลุดลอกดูไม่สวยงาม แต่เราก็สามารถป้องกันปัญหานี้ได้ด้วยการใช้น้ำส้มสายชูทารองพื้นไปก่อน ปล่อยให้แห้งแล้วค่อยทาสีที่ต้องการทับลงไปอีกครั้ง หรือถ้าเป็นสีพลาสเตอร์ ก็ผสมน้ำส้มสายชูลงไป 2 ช้อนโต๊ะ เพื่อให้สีพลาสเตอร์มีความยืดหยุ่น ติดคงทนมากขึ้น นอกจากนี้น้ำส้มสายชูยังสามารถขจัดคราบสนิมบนเครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างหมดจด โดยนำเครื่องมือที่เกิดสนิม จุ่มลงไปในน้ำส้มสายชูให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน คราบสนิมก็จะหายไป เหลือแต่เครื่องมือที่ดูใหม่ขึ้นกว่าเดิมจ้า

6. ซ่อมผนังไวนิลด้วยเทปกาว

          ผนังไวนิลที่หลุดลอกเนื่องจากน้ำฝนและแสงแดด ก็ไม่จำเป็นต้องลอกและติดตั้งใหม่ให้เสียเวลาและเงินในกระเป๋า เพราะเพียงแค่ใช้เทปกาวที่มีสีใกล้เคียงกับสีผนังไวนิล มาติดทับไว้ แล้วเกลี่ยด้วยมือ หรือไม้บดขนมปังให้เรียบสนิท เท่านี้ก็จะไม่เห็นรอยตำหนิบนผนังไวนิลแล้วล่ะนอกจากนี้เรายังสามารถใช้เทป กาวพันเศษแก้วที่ตกแตก เพื่อป้องกันเศษแก้วบาดได้อีกด้วย

7.  แก้ปัญหาไส้กรองตู้เย็นอุดตันด้วยหลอดดูดยา

          ถ้าตู้เย็นของคุณมีน้ำหยดก็แสดงว่า ไส้กรองน้ำที่อยู่ด้านหลังตู้เย็นของคุณเกิดการอุดตัน ซึ่งเราก็สามารถแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้หลอดดูดยา ดูดน้ำร้อนแล้วฉีดใส่เข้าไปทำความสะอาดไส้กรอง จากนั้นก็ใช้หลอดดูดแอมโมเนียประมาณ 2 ช้อนชา ฉีดใส่เข้าไปในไส้กรองเพื่อกำจัดคราบสกปรกที่อุดตันท่ออยู่  เท่านี้ก็เรียบร้อยจ้า

8. ติดฝ้าเพดานด้วยกล่องกระดาษ

          หากฝ้าเพดานบ้านเกิดชำรุด แนะนำให้ใช้กล่องกระดาษหุ้มด้วยพลาสติก แล้วนำไปวางไว้ที่ใต้ฝ้าเพดาน เป็นการซ่อมแซมชั่วคราวเพื่อไม่ให้เพดานมีช่องโหว่ จากนั้นค่อยตามช่างมาซ่อมแซมแบบถาวรให้ภายหลัง เพียงเท่านี้ก็สามารถยืดระยะเวลาเสียเงินในกระเป๋าตังค์เราไปได้อีกระยะ หนึ่งแล้วนะคะ

          ของใช้ในบ้านที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน หรือแม้กระทั่งใช้กันอย่างคุ้นมือ ต่างก็มีประโยชน์ใช้สอยมากกว่าที่เราคิด อย่างอุปกรณ์ประจำบ้านที่เรานำเสนอให้ดู ก็สามารถช่วยซ่อมแซมและลดค่าใช้จ่ายให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ ลองไปทำตามกันดูนะจ๊ะ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/418694096617730507/

Monday, May 25, 2015

10 ทักษะการซ่อมแซมบ้านที่คุณควรรู้ ก่อนย้ายไปอยู่บ้านเช่า


          ถ้าคุณกำลังจะย้ายไปอยู่บ้านเช่า หรือบ้านมือสอง แน่นอนว่าอาจจะมีปัญหาการเสื่อมสภาพของสิ่งของภายในบ้านให้คุณต้องกลุ้มใจ บ้างแน่ ๆ แต่จะให้เปลี่ยนใหม่ซะทั้งหมด ก็คงจะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ดังนั้นอะไรที่สามารถซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ ก็ลงมือจัดการเองซะเถอะ จะได้ช่วยประหยัดเงินไปได้อีกหน่อย ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีซ่อมแซมบ้านง่าย ๆ ที่คุณควรรู้ไว้มาฝากกันค่ะ เผื่อเจอกับปัญหาต่าง ๆ จะได้สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้โดยทำตามวิธีเหล่านี้


1. ก๊อกน้ำรั่ว

           หากคุณพบว่าก๊อกน้ำในบ้านรั่ว แม้จะบิดก๊อกจนสุดแล้วแต่ก็ยังมีน้ำหยดอยู่เรื่อย ๆ ให้คุณปิดวาล์วน้ำให้สนิทเสียก่อน แล้วก็ใช้คีม หรือประแจ เลื่อนหมุนข้อต่อบริเวณด้านล่างของก๊อกส่วนที่ติดกับท่อ ถอดก๊อกเก่าออกมาก่อน แล้วพันเทปที่ปลายท่อประมาณ 3 - 4 รอบจากนั้นก็ค่อยสวมหัวก๊อกใหม่ลงไป หรือคุณอาจจะลองเปลี่ยนแหวนยางที่บริเวณหัวก๊อกดูก่อนก็ได้


2. การเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หนัก ๆ

           สำหรับคนที่อยากจะจัดตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ภายในบ้านที่มีน้ำหนักมาก ให้คุณใช้ผ้าหรือแผ่นพลาสติกรองใต้เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ชิ้นใหญ่ก่อนเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันการเสียดสี และรอยขีดข่วนบนพื้น อีกทั้งยังช่วยให้คุณเคลื่อนย้ายของใช้ต่าง ๆ ไปจัดวางตำแหน่งอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
 
3. วิธีติดตั้งสิ่งของบนผนัง

           เช่น ตู้เก็บของ ชั้นวางของ หรือของตกแต่งต่าง ๆ ก่อนจะติดตั้งคุณควรกำหนดตำแหน่งที่คุณต้องการเสียก่อน ถ้าเป็นผนังกระเบื้องควรใช้เทปพลาสติกใสติดลงไปก่อน จากนั้นก็วางปลายของหัวสว่านให้ตรงกับจุดที่คุณขีดไว้ให้ตรง แล้วออกแรงดันไปพร้อม ๆ กับตอนที่คุณกำลังเจาะผนัง ทั้งนี้คุณควรถือสว่านให้ตรงขนานกับพื้น เพราะถ้าหากคุณจับสว่านเบี้ยว จะทำให้ผนังรอบ ๆ หลุดร่อนได้ จากนั้นเมื่อเจาะเสร็จแล้วก็นำหลอดพลาสติกเล็ก ๆ ใส่เข้าไปก่อน แล้วจึงนำสิ่งของขึ้นไปแขวน แล้วไขนอตยึดลงไปอีกครั้งจะทำให้มั่นคงขึ้น

4. หลอดไฟดับ

           ถ้าคุณได้ยินเสียงแปลก ๆ จากหลอดไฟ หรือเปิดสวิตช์แล้วหลอดไฟไม่สว่าง ให้ถอดหลอดไฟออกมา เพื่อเช็กที่ขั้วหลอดไฟก่อนเป็นอันดับแรก เพราะอาจจะมีฝุ่นผงติดอยู่ซึ่งทำให้กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านไปได้ ในกรณีนี้ให้ใช้ผ้าแห้งเช็ดออกให้สะอาดแล้วใส่กลับเข้าไปที่เดิม แต่ถ้าหากบริเวณขั้วหลอดมีลักษณะคล้าย ๆ เขม่าสีดำเกาะติดอยู่ ให้เปลี่ยนหลอดใหม่ได้เลยทันที

 
5. สวิตช์ หรือปลั๊กไฟเสีย

           ในกรณีที่สวิตช์หรือปลั๊กไฟชำรุดเสียหาย ให้คุณลองเช็กไฟดูก่อน โดยการใช้ไขควงหรือเครื่องวัดไฟ จิ้มลงไปที่ปลายสายไฟสีแดง หากปรากฏประกายไฟขึ้นที่ไขควงหรือเครื่องวัดไฟ ก็แสดงว่าสายไฟยังปกติอยู่ แต่ถ้าหากทดสอบแล้วไม่มีประกายไฟใด ๆ ปรากฏขึ้น แสดงว่าสายไฟของคุณอาจจะเสื่อมสภาพ หรือเกิดการฉีกขาด ดังนั้นในกรณีหลังควรเรียกช่างหรือผู้ชำนาญมาเปลี่ยนสายไฟให้เลยจะดีกว่า

 
6. ประตูไม้ปิดไม่สนิท

           ความชื้นจากสภาพอากาศ หรือหลังจากน้ำท่วม อาจจะทำให้เนื้อไม้ของประตูขยายใหญ่ขึ้น ในกรณีเช่นนี้ให้คุณถอดประตูออกมา แล้วทิ้งไว้ให้เนื้อไม้ทั้งหมดแห้งเสียก่อน จากนั้นหากทดสอบดูแล้วยังไม่สามารถปิดประตูอีก ให้คุณใช้กบไสไม้ปรับแต่งบริเวณขอบประตู แล้วขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ และตกแต่งสีใหม่อีกเล็กน้อย ส่วนบริเวณข้อต่อบานพับของประตู อย่าลืมหยดน้ำมันหล่อลื่นลงไปด้วยนะ เพียงเท่านี้ประตูก็กลับมาใช้ได้เหมือนเดิมแล้วล่ะ 

7.  เกิดอัคคีภัย

           ของอีกหนึ่งอย่างที่คุณควรจะมีติดบ้านเอาไว้ก็คือ ถังดับเพลิง เพื่อเอาไว้ป้องกันอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีใช้ถังดับเพลิงนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่คุณดึงสลักด้านหลังออก จากนั้นฉีดโฟมลงไปในลักษณะแนวนอนจนกว่าไฟจะดับลง จากนั้นก็เรียกหน่วยดับเพลิงมาช่วยตรวจเช็กสภาพอีกที เพราะอาจจะมีประกายไฟหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้

8. ถังแก๊สรั่ว

           หากคุณได้กลิ่นแก๊ส ให้คุณตรวจเช็กและปิดวาล์วแก๊สให้สนิท จากนั้นก็ดับไฟทุกดวงในบ้าน และงดใช้การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดชั่วคราว ทั้งคอมพิวเตอร์ พัดลม หรือโทรทัศน์ รวมไปถึงโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือ เพราะอาจจะทำให้เกิดประกายไฟได้ จากนั้นก็เปิดหน้าต่างเพื่อระบายแก๊สออกโดยเร็วที่สุด ให้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเพื่อเรียกช่างมาตรวจเช็คแก้ไขอย่างเร่ง ด่วน


9. นอตหลวม

           บานพับบริเวณต่าง ๆ ของบ้าน อย่างเช่น บานพับประตู บานพับหน้าต่าง หรือบานพับประตูตู้ แรงกระแทกจากการเปิด-ปิดอาจจะทำให้รูนอตหลวม ในกรณีเช่นนี้ ให้คุณถอนบานพับออกมา จากนั้นใส่เดือยไม้ หรือหมุดไม้ลงไปในรู หากมีส่วนที่เหลือยื่นออกมาให้คุณใช้เลื่อยหรือมีดตัดออก จากนั้นก็ใช้สว่านเจาะรูเข้าไปใหม่ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถนำบานพับกลับมาติดตั้งได้เหมือนเดิมแล้วล่ะ แถมบานพับก็ยังติดแน่นขึ้นอีกด้วย

10. ปั๊มถังชักโครก

           ปัญหาที่เกิดขึ้นกับปั๊มในถังชักโครกส่วนใหญ่มักจะเกิดจากลูกยางซีลระหว่าง ท่อกับถังชักโครกเสื่อม หรือลูกลอยหัก เป็นต้น ดังนั้นก่อนทำการซ่อมแซมควรปิดวาล์วน้ำที่ท่อส่งน้ำเสียก่อน จากนั้นก็ลองตรวจเช็กลูกยางหรือลูกลอยว่าสภาพยังดีอยู่หรือไม่ เพราะทั้งสองอย่างนี้สามารถซื้อมาเปลี่ยนใหม่ได้ แต่หากเป็นระบบอื่น ๆ เช่น ระบบการสูบน้ำ ควรเรียกช่างหรือผู้ชำนาญการมาตรวจเช็กและแก้ไขจะดีกว่า


           เห็นไหมล่ะว่าวิธีการซ่อมแซมง่ายกว่าที่คุณคิด ดังนั้นหากมีของใช้ภายในบ้านเช่าหรือบ้านมือสองของคุณชำรุด ก็ลองซ่อมแซมด้วยตัวเองเสียก่อน หากไม่สามารถแก้ไขได้จริง ๆ ค่อยเรียกช่างมาดูแล ปรับปรุง ซ่อมแซมกันอีกครั้ง อีกทั้งหากรู้วิธีแก้ไขเอาไว้ก่อนก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นอีกเยอะเลยล่ะ คราวนี้คุณก็สามารถขนข้าวของย้ายเข้าบ้านใหม่ได้แบบไม่ต้องกังวลแล้วจ้า