Tuesday, March 14, 2017

ไม่อยากเสียเงินซ่อม...ขอร้องว่าอย่าทำ 18 อย่างนี้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า !




         พฤติกรรมเสี่ยงทำลายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่อยากให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเสียหายและมีอายุการใช้งานสั้นเกินกว่ากำหนด เช็กแล้วเลี่ยงไว้ก่อนเลยดีกว่า

          ลองนึกย้อนกลับไปในวันที่ตัดสินใจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าบ้านดูสิคะ มันเป็นเรื่องยากมากเลยใช่ไหมล่ะ เพราะด้วยราคาและฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีมูลค่ามากมาย ฉะนั้นถ้ายังปล่อยปละละเลยและทำพฤติกรรมผิด ๆ เหล่านี้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไป รับรองได้เลยว่าไม่ถอยเครื่องใหม่ก็ต้องเสียเงินซ่อมกันไปอีกนานแน่นอน ถ้าไม่อยากตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นก็ต้องไปดูกันดีกว่าว่ามีพฤติกรรมไหนบ้างที่ไม่ควรทำ

เครื่องซักผ้า

1. วางของหนัก ๆ บนเครื่องซักผ้า

          แม้เครื่องซักผ้าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรองรับสิ่งของที่มีน้ำหนักมากได้เสมอไปหรอกนะคะ ควรจะยกออกไปวางที่อื่นดีกว่า แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องวางก็ให้วางแต่ของที่มีน้ำหนักเบา รวมไปถึงสายชิลทั้งหลายที่ชอบปีนขึ้นไปนั่งบนเครื่องซักผ้าขณะเครื่องกำลังทำงาน ลงไปนั่งรอที่อื่นดีกว่า ไม่งั้นเครื่องพังแน่ ๆ

2. ลืมเช็กของในกระเป๋าก่อนซัก

          อย่ามองข้ามสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ตามกระเป๋าเสื้อและกางเกงไปเด็ดขาด เพราะถ้าหากมันหลุดออกมาจากกระเป๋าแล้วเข้าไปขัดกลไกของเครื่องซักผ้าเข้าละก็ อาจต้องเตรียมเงินไว้ซ่อมเครื่องกันยาว ๆ ฉะนั้นก่อนซักเสื้อผ้าทุกครั้งควรเช็กกระเป๋าเสื้อและกางเกงก่อนว่ามีสิ่งของอยู่ไหม ถ้ามีก็หยิบออกมาซะ

3. ไม่ทำความสะอาดขอบยาง

          หลังจากตากผ้าที่ซักเสร็จเรียบแล้ว ควรทำความสะอาดขอบยางฝาเครื่องซักผ้าให้สะอาดและแห้งสนิท ไร้เชื้อราฝังญาติมิตรที่ขอบยางด้วย โดยการใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชูเช็ดให้ทั่ว แล้วเช็ดออกด้วยผ้าแห้งซ้ำอีกครั้ง เปิดฝาทิ้งไว้ให้อากาศถ่ายเท เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีเชื้อรามากวนใจ นอกจากนี้หากเครื่องซักผ้าไม่มีระบบทำความสะอาดเครื่อง  ให้เปิดเครื่องทำงานด้วยระบบน้ำร้อนและเทน้ำส้มสายชูลงไป ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง

4. ปล่อยผ้าแห้งคาเครื่อง

          ถ้าไม่อยากให้ตัวถังและสายพานของเครื่องซักผ้าต้องรับน้ำหนักผ้าเปียกเอาไว้นาน ๆ จนพังเสียหาย ควรรีบนำผ้าออกจากเครื่องทันทีที่ซักเสร็จเรียบร้อย มิเช่นนั้นการแช่ผ้าไว้ในเครื่องนาน ๆ อาจจะทำให้คุณเสียทรัพย์ไปกับการซ่อมแซมโดยไม่รู้ตัว

ตู้เย็น

5. ขนย้ายตู้เย็นเป็นแนวนอน

          ช่างยกของจะรู้กันดีว่าไม่ควรยกตู้เย็นเป็นแนวราบ เพราะจะทำให้น้ำยาคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไหลออกมา ทำความเสียหายให้กับระบบภายใน แถมยังทำให้อายุการใช้งานสั้นลง หากจะเคลื่อนย้ายตำแหน่งตู้เย็นควรขยับในแนวตั้งหรือเอียงได้ไม่เกิน 40 องศา

6. ใช้งานตู้เย็นทันทีหลังย้ายเสร็จ

          ไม่ต้องตื่นเต้นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ จนต้องรีบเปิดระบบทำความเย็นของตู้เย็นทันที เพราะจะทำให้น้ำยาคอมเพรสเซอร์รั่วไหลออกจนทำระบบภายในเสียหายไปด้วย ควรรอสักประมาณ 4 ชั่วโมง หรือ 15 ชั่วโมงหลังขนย้ายเพื่อให้น้ำยาเข้าที่ ค่อยเสียบปลั๊กใช้งานดีกว่า

7. แช่อาหารร้อนจัดในตู้เย็น

          ใจเย็น ๆ ก็ได้ไม่ต้องรีบแช่อาหารจานร้อนหรืออาหารที่เพิ่งปรุงเสร็จใหม่ ๆ ในตู้เย็นทันที มันไม่เน่าบูดเร็วขนาดนั้นหรอก ทิ้งไว้ข้างนอกสัก 30 นาที รอให้อาหารเย็นลงแล้วค่อยนำไปแช่จะดีกว่า ตู้เย็นจะได้ไม่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิแปรปรวนเสี่ยงต่อการพังเสียหาย

8. ไม่ทำความสะอาดตู้เย็น

          ไม่ใช่แค่ระบบภายในเพียงอย่างเดียวที่เราจะต้องดูแลรักษาความสะอาดอยู่บ่อย ๆ เพราะฝุ่นควันที่เกาะอยู่ตามหลังตู้เย็นเหล่านี้ มีผลทำให้ตู้เย็นเสียหายเหมือนกัน หมั่นใช้ผ้าหรือเครื่องดูดฝุ่นกำจัดสิ่งสกปรกบ้างก็ดี

หม้อหุงข้าว

9. หุงข้าวทั้ง ๆ ที่ยังไม่เช็ดก้นหม้อ

          ต่อให้งานบ้านจะเยอะแยะและต้องทำเวลารีบเร่งขนาดไหน ไม่ควรลืมเช็ดก้นหม้อหุงข้าวให้แห้งสนิทซะก่อน เพราะถ้าใส่ลงไปหุงทั้ง ๆ ที่ก้นหม้อยังเปียกอยู่ อาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้นะ

10. ใช้ฝอยขัดหม้อล้างหม้อหุงข้าว

          การล้างทำความสะอาดหม้อหุงข้าว ไม่จำเป็นต้องใช้แรงขัดถูอะไรให้มากมาย เพราะถ้ามีเศษข้าวแห้งกรังติดอยู่ให้แช่น้ำทิ้งไว้ แล้วค่อยล้างทำความสะอาดด้วยฟองน้ำล้างจานก็พอ ไม่ต้องถึงขั้นใช้ฝอยขัดหม้อขัดจนเกิดรอยขีดข่วน

ไมโครเวฟ

11. วางของบนไมโครเวฟ

          แนะนำให้วางของไว้ที่อื่นดีกว่า เพราะการวางของบนไมโครเวฟจะไปบังช่องระบายอากาศ และเมื่อไมโครเวฟไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้ ก็จะทำให้เครื่องร้อนและพังในที่สุดหรืออาจทำให้เกิดประกายไฟตามมา

12. อบอาหารน้ำหนักเกิน

          ก่อนจะอบหรืออุ่นอาหารในไมโครเวฟ เช็กกันดีแล้วหรือยังว่าอาหารนั้นมีน้ำหนักเกินกว่าที่เครื่องกำหนดไว้หรือเปล่า เพราะไมโครเวฟไม่สามารถรองรับน้ำหนักมาก ๆ ได้เหมือนเตาอบขนาดใหญ่ ทางที่ดีควรอ่านคู่มือให้ละเอียดก่อนใช้ เพื่อเช็กน้ำหนักให้แน่นอน

13. อบอาหารด้วยภาชนะทั่วไป

          ข้อนี้ถือว่าสำคัญมากเลยทีเดียว เพราะการอบอาหารด้วยภาชนะที่ไม่ได้ระบุว่าสามารถใช้กับไมโครเวฟได้ นอกจากจะทำให้ไมโครเวฟเสียหายแล้ว อาจทำให้เกิดการระเบิดภายในขณะกำลังใช้งานและกลายเป็นไฟไหม้บ้านได้

เครื่องปิ้งขนมปัง

14. วางในที่เสี่ยง

          ถึงเครื่องปิ้งขนมปังจะไม่ได้มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ก็ควรจะวางเครื่องปิ้งขนมปังเอาไว้ในที่ที่ปลอดภัย ไม่โดนน้ำกระเด็นใส่  ไม่ตั้งไว้ใกล้กับวัตถุไวไฟ อย่างเช่น ผ้าม่านหรือผ้าขี้ริ้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะตามมา

15. ไม่ทำความสะอาดเครื่องปิ้งขนมปัง

          การใช้เครื่องปิ้งขนมปังแทบทุกวันแล้วไม่ยอมทำความสะอาดเลย จะทำให้เครื่องพังง่ายขึ้น อายุการใช้งานสั้นลง ทางที่ดีควรจะทำความสะอาดทุกวันหลังจากใช้งานเสร็จ เพื่อไม่ให้มีเศษขนมปังไปอุดตันระบบด้านใน

16. ปิ้งขนมปังสารพัดชนิด

          แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น เครื่องปิ้งขนมปังแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปิ้งขนมปังได้ทุกชนิดเสมอไป เครื่องปิ้งขนมปังควรนำมาใช้กับขนมปังแผ่นหรือขนมปังแห้ง ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนขนมปังอย่าง สโคนทาเนย ไม่ควรนำมาปิ้งเด็ดขาด

เครื่องปั่น

17. ปั่นอาหารร้อน

          แม้ว่าอาหารบางชนิดที่จะนำเข้าเครื่องปั่นต้องผ่านการต้มน้ำร้อน ๆ มาก่อน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำลงไปปั่นเลยทันที ควรตั้งทิ้งไว้ให้อาหารเย็นตัวก่อน สักประมาณ 70-80 องศาเซลเซียส แล้วค่อยนำไปปั่น ที่สำคัญต้องตรวจสอบให้ดีก่อนใช้ว่าโถกับฐานเครื่องปั่นปิดสนิทแล้วจริง ๆ

18. ปั่นติดกันนานเกินไป

          หัวปั่นอาหารเป็นอีกหนึ่งเครื่องไฟฟ้าที่เราต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดี โดยการไม่เปิดระบบการใช้งานปั่นอาหารนานเกินไป เพราะอาจจะทำให้มอเตอร์ทำงานหนักจนร้อนและเกิดความเสียหายตามมา

          เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมผิด ๆ เหล่านี้ไปเลย เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลดีแล้วยังสร้างความเสียหาย ทำลายอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สั้นลงอีกต่างหาก เราควรจะรักษาคุณภาพของมันเอาไว้ให้อยู่ใช้งานได้นาน ๆ จะไม่ต้องเสียเงินซื้อหรือซ่อมแซมบ่อยยังไงล่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Brightside และ 5-Minute Crafts
เครดิตภาพ  https://home.kapook.com/view164289.html



No comments:

Post a Comment